สั่งชาเย็น ทำไมได้ชานม? | สืบจากศัพท์..กว่าจะเป็นชาไทยที่ใครๆ ก็รัก
สั่งชาเย็น ทำไมได้ชานม? | สืบจากศัพท์..กว่าจะเป็นชาไทยที่ใครๆ ก็รัก
สั่งชาเย็น ทำไมได้ชานม?
จากบทความก่อน เราคงพอเข้าใจที่มาของคำว่าชาไทยกันแล้ว เราพอเห็นภาพความนิยมของชานมที่มากกว่าชาดำในสมัยแรกเริ่ม แต่ยังคงมีจุดที่น่าวิเคราะห์ต่อไปอีก คือคำว่า “ดำ” ในชาดำเย็น ที่ว่าน่าวิเคราะห์ก็เพราะว่า เราเห็นน้ำชาเป็นสีแดงชัดๆ ทำไมถึงเรียกกันว่า “ชาดำ” ซึ่งตรงนี้คนที่มีความรู้เรื่องชาอาจจะตกหลุมพรางคำศัพท์ได้ง่ายๆ เพราะชาดำหมายถึง ชาหมัก ฝรั่งเรียกว่า “Black Tea” (แต่คนจีนเรียกว่า “หงฉา” แปลว่าชาแดง ซึ่งหมายถึงสิ่งเดียวกัน) ก็อาจคิดไปว่า “ดำ” ในชาดำเย็นก็หมายถึงว่าเป็นชาดำหรือชาที่ผ่านการหมักอย่างสมบูรณ์นั่นแหละ แต่ที่จริงแล้ว คำว่า “ดำ” ในชาดำเย็นนั้นหมายถึง “การไม่ใส่นมข้นหวาน” ต่างหาก ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นชาหมักหรือไม่หมัก เพราะในสมัยนั้นชาที่ขายตามร้านกาแฟโบราณเป็นชาดำ (ชาหมัก) จากศรีลังกา (ซีลอน) แทบทั้งสิ้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องระบุว่าจะสั่งชาดำหรือชาเขียว
สรุปว่าคำว่า “ดำ” ในชาดำเย็นหมายถึงการไม่ใส่นมข้นหวาน แต่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นั่นก็เป็นเพราะชาซีลอนที่ใช้ชงขายกันเป็นเมนูรองของกาแฟ (โบราณ) คำว่าดำก็มาจากเมนูกาแฟสีดำนี่เอง เรื่องมันเป็นมาอย่างนี้ ก็คือว่า บรรดาร้านหรือรถเข็นขายกาแฟในสมัยก่อนมีเมนูกาแฟเป็นตัวหลัก ถ้าสั่ง “กาแฟร้อน” จะได้กาแฟร้อนใส่นมข้นหวานเป็นกาแฟนม (โบราณ) เสมอ คนเชื้อสายจีนแถวคาบสมุทรมลายูเรียกกันว่า “โกปี๊” ซึ่งหมายถึงคอฟฟี่ ถ้าสั่ง “กาแฟเย็น” หรือโกปี๊เลี้ยง ก็จะเทกาแฟนมใส่แก้วน้ำแข็งให้ แต่ถ้าอยากดื่มกาแฟเย็นแบบไม่ใส่นมจึงจะต้องสั่งว่า “กาแฟดำเย็น” หรือโกปี๊โอวเลี้ยงซึ่งกลายเป็นภาระของผู้ที่ไม่ต้องการดื่มกาแฟนมนั่นเอง (ภายหลังตัดคำเหลือแค่โอวเลี้ยง) และคำว่า “ดำ” ในกาแฟดำเย็นนั้นก็มาจากสีดำของน้ำกาแฟจริงๆ แต่หลังจากนั้นความหมายของคำว่าดำก็เพี้ยนไปกลายมาเป็นการไม่ใส่นมข้นหวานไปในที่สุด และถูกนำมาใช้กับเมนูพระรองอย่างชาด้วย
หลักฐานทางภาษาอีกประการสำหรับช่วยยืนยันว่า เมนูที่ตามหลังด้วยคำว่า “เย็น” หมายถึงใส่นมข้นหวานและน้ำแข็ง ส่วนเมนูที่ตามหลังด้วยคำว่า “ดำเย็น” หมายถึงใส่น้ำแข็งแต่ไม่ใส่นมข้นหวานก็คือ เมนู “เอสเย็น” ที่เกิดขึ้นภายหลัง คือในยุคที่มีการนำเข้าเครื่องชงกาแฟแบบเอสเปรสโซ่มาชงกาแฟสดขายแทนถุงชงกาแฟแบบโบราณ จากที่เคยสั่งว่า “กาแฟเย็น” ก็ต้องเปลี่ยนเป็น “เอสเย็น” ที่หมายถึงกาแฟเอสเปรสโซ่ผสมนมข้นหวานและใส่น้ำแข็งนั่นเอง และนี่ก็กลายเป็นต้นตอของดราม่าการสั่งกาแฟในไทยอยู่เป็นระยะๆ เพราะคนที่ไม่รู้ที่มาที่ไปก็จะคิดว่าถ้าสั่งเอสเย็นก็ควรจะได้กาแฟเอสเปรสโซ่ (กาแฟดำแก้วเล็กๆ แต่เข้มข้น) ใส่แค่น้ำแข็งเท่านั้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าต้องได้กาแฟสดใส่นมข้นหวาน และอีกหลักฐานก็คือเมนู “ชาเขียวดำเย็น” เมนูชื่อพิสดารที่อาจไม่ได้แพร่หลายมากนัก แต่ผู้เขียนก็พบการใช้ชื่อเมนูนี้อยู่พอสมควร เป็นเมนูที่เกิดภายหลังเมื่อไทยเริ่มนำชาใบมาชงเป็นชาเขียวนมขาย เมื่อลูกค้าไม่ต้องการชานมก็จะสั่ง “ชาเขียวดำ” ตามความหมายที่เคยเข้าใจกันว่า “ดำหมายถึงไม่ใส่นม” แต่ต่อมาก็กลายเป็นความสับสน เพราะชาเขียวและชาดำต่างก็มีความหมายเฉพาะตัวและต่างกันสิ้นเชิง เมื่อมีการขายชาเขียวแล้ว การใช้คำว่าดำมากำกับอีกก็จะสร้างความสับสนงุนงงมากกว่า ต่อมาจึงมีการใช้คำว่า “ชาใส” แทนความหมายของการไม่ใส่นมไปในที่สุด เช่น “ชาเขียวใส” หมายถึงชาเขียวแบบไม่ใส่นม แต่อย่างไรก็ตาม “ชาดำเย็น” ก็ยังคงเป็นชาดำเย็นอยู่นั่นเอง
มาถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพแล้วว่า “ชาไทย” หรือบางทีที่เรียกกันว่า “ชาไทยเย็น” นั่นก็คือ “ชาเย็น” นั่นแหละ และก็คืออันเดียวกันกับ “ชานมเย็น” ของบางพื้นที่ด้วย โดยคำว่าเย็นแต่เดิมนั้นจะมีนัยยะว่าใส่นมข้นหวานด้วย ส่วนถ้าจะไม่ใส่นมก็จะใช้คำว่า “ดำ” หรือ “ใส” ระบุเพิ่มเข้าไป แต่คำที่เกี่ยวข้องกับชาไทยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ส่วนจะมีคำไหนอีกบ้างสามารถติดตามได้ในตอนต่อไป
...................................
สำหรับท่านที่ต้องการสัมผัสรสชาติชาไทยแท้ๆ และชาเขียวหอมๆ ที่สะดวกและอร่อยเหมือนชงจากร้านดัง ลองผงชาไทย Synova ที่มาพร้อมกับรสชาติชาไทยและชาเขียวเข้มข้น หอมละมุน พร้อมชงง่ายในไม่กี่ขั้นตอน เพียงแค่เติมน้ำร้อนหรือเย็นก็พร้อมดื่มทันที ผงชาไทยและผงชาเขียว Synova ช่วยให้คุณได้เพลิดเพลินกับชาเย็นรสเด็ดได้ทุกที่ ทุกเวลา เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบความสะดวกสบายและรสชาติแบบต้นตำรับ!
...................................
"ชาไทยหรือชาเย็น?" รู้หรือไม่? ชาสีส้มแก้วโปรดของคุณมีเรื่องราวมากกว่าที่คิด! แล้วมาค้นหาคำตอบไปด้วยกัน คลิกอ่านเลย