ชาไทยหรือชาเย็น? | สืบจากศัพท์..กว่าจะเป็นชาไทยที่ใครๆ ก็รัก

ชาไทยหรือชาเย็น?

ชาไทยสีส้มๆ ที่พบเห็นได้ทั่วทุกย่านร้านค้าในเมืองไทย กลายเป็นไวรัลให้คนพูดถึงกันเป็นระยะๆ ทั้งติดอันดับเครื่องดื่มยอดนิยมระดับโลกในฐานะตัวแทนเครื่องดื่มสไตล์ไทยมาแล้วหลายครั้ง แต่กว่าจะกลายมาเป็นหนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งของไทยได้อย่างในปัจจุบัน ชาไทยมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง เรามาลองย้อนอดีตดูกันสักเล็กน้อย แต่เราจะชวนย้อนรอยด้วยการวิเคราะห์คำศัพท์เป็นหลัก

ย้อนไปสักยี่สิบถึงสามสิบปีก่อน ในยุคที่คน Gen Y ยังเป็นเด็ก เวลาต้องการสั่งชาไทยตามร้านรถเข็นกาแฟโบราณ คนมักจะสั่งกันว่า “ชาเย็น” แก้วนึง ก็เป็นอันรู้กันว่า จะได้ชาสีส้มๆ ใส่นมข้นหวานและน้ำแข็ง ส่วนตามตลาดเช้า เมนู “ชาร้อน” ก็เป็นที่นิยมสั่งกันมาก โดยการเสิร์ฟก็จะมีการแยกเลเยอร์เป็นชั้นสีขาวของนมข้นหวานด้านล่างและน้ำชาสีแดงเข้มทางด้านบน เวลาจะทานต้องเอาช้อนคนให้เข้ากันก่อน ส่วนถ้าใครไม่ต้องการนมข้นหวานก็จะต้องกำกับว่า “ชาดำเย็น” (ชาดำร้อน ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นคนสั่ง) ก็จะได้น้ำชาสีแดงกึ่งใสหวานๆ ปนฝาดชาเข้มๆ มาถึงตรงนี้ก็อาจจะเกิดคำถามได้ว่า อ้าว! แล้วชื่อชาไทยมันมาได้อย่างไรกัน?

การตอบคำถามข้างต้นแบบฟันธงให้ถูกต้องแน่นอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อจากชาเย็นเป็นชาไทยนั้นเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะอ้างเป็นคนต้นคิดได้อย่างเด็ดขาด แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ การเติมชื่อประเทศแสดงความเป็นเจ้าของนั้น ต้องเกิดจากการเปรียบเทียบระหว่างของแต่ละชาติ การเรียกชาเย็นว่าชาไทย ก็น่าจะเพื่อระบุให้ชัดว่านี่เป็นชาของ “ประเทศไทย” ดังนั้นการเกิดขึ้นของคำว่าชาไทยจึงเป็นไปได้สองกรณีคือ กรณีแรก ชาวต่างชาติเป็นคนเริ่มเรียกก่อน เช่นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยดื่มชาของชาติต่างๆ พอมาเจอชาสีส้มที่ไทยจึงเรียกเพื่อระบุให้ชัดว่า “Thai Tea” หรือ “Thai Milk Tea” แล้วถูกแปลกลับมาเป็นชาไทยในที่สุด กรณีที่สอง คนไทยเป็นผู้นำเสนอให้ต่างชาติรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการขายในประเทศหรือการส่งออกก็ตาม ก็ต้องตั้งชื่อเพื่อให้ต่างชาติรู้จักและเข้าใจว่าเป็นชาสไตล์ไทย ชื่อชาไทยจึงอาจถือกำเนิดในลักษณะนี้ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการเกิดขึ้นของชื่อชาไทยจะเป็นกรณีใดก็ตาม ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เหมือนกันในทั้งสองกรณีก็คือการระบุชื่อเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจว่าไม่ใช่ชาจีน ชาญี่ปุ่น ชาอินเดียนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องนึงก็คือ เวลาเราต้องการได้ชาเย็นแบบใส่นม เราสั่งกันว่า “ชาเย็น” ต้องการได้ชาร้อนใส่นม เราสั่งกันว่า “ชาร้อน” โดยไม่มีคำว่า “นม” แต่หากต้องการชาใส่น้ำแข็งแบบไม่ใส่นม แทนที่จะสั่งว่าชาเย็นเฉยๆ กลับต้องรับภาระเติมคำว่า “ดำ” ให้ยาวขึ้นเป็น “ชาดำเย็น” แทน คำถามที่น่าสนใจคือ ก็แล้วทำไมเราไม่สั่งชาเย็น แล้วได้แค่ชาใส่น้ำแข็ง แล้วพออยากได้ชาใส่นมใส่น้ำแข็ง ก็สั่งว่าชานมเย็น? ซึ่งจะดูเข้าท่ากว่า คำตอบก็คือ ความนิยมในการกินชาใส่นมนั้นมีมากกว่า หรือเป็นเมนูที่เริ่มมีมาก่อน ดังนั้น เมื่อลูกค้าเกือบทั้งหมดต้องการดื่มชาใส่นม ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มคำว่า “นม” ในชื่อเมนูให้ยาว การตัดคำให้สั้นเป็นวิถีปกติในการใช้ภาษาทุกภาษาอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเราต้องการดื่มชาที่ไม่ใส่นม จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องระบุว่า ขอชา “ดำ” เย็นแก้วนึง

อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ในประเทศไทยก็อาจไม่ได้ใช้คำเรียกตามนี้ เช่นในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ผู้เขียนเคยสั่ง “ชาเย็น” แล้วได้ชาจีนใส่น้ำแข็งมาแก้วนึง เจ้าของร้านบอกว่า ถ้าอยากได้ชาใส่นมก็ให้สั่งว่า “ชานมเย็น” ซึ่งผู้เขียนแอบชอบวิธีการเรียกแบบนี้มากกว่า เพราะตรงตัวดี แต่ก็ไม่คิดว่านี่เป็นระบบการเรียกที่ดั้งเดิมที่สุด สาเหตุที่คิดแบบนั้นก็เนื่องจากว่าแต่เดิมการเรียกเมนูชาของร้านชากาแฟโบราณนั้นไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่ใช้ชื่อเรียกตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน ซึ่งจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งในลำดับต่อๆ ไป

สำหรับท่านที่ต้องการสัมผัสรสชาติชาไทยแท้ๆ ที่สะดวกและอร่อยเหมือนชงจากร้านดัง ลองผงชาไทย Synova ที่มาพร้อมกับรสชาติชาไทยเข้มข้น หอมละมุน พร้อมชงง่ายในไม่กี่ขั้นตอน เพียงแค่เติมน้ำร้อนหรือเย็นก็พร้อมดื่มทันที ผงชานม Synova ช่วยให้คุณได้เพลิดเพลินกับชาเย็นรสเด็ดได้ทุกที่ ทุกเวลา เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบความสะดวกสบายและรสชาติแบบต้นตำรับ!

กิจกรรมเพิ่มเติม