ชาไทยเป็นอะไรกับชาใต้? | สืบจากศัพท์..กว่าจะเป็นชาไทยที่ใครๆ ก็รัก

 

ชาไทยเป็นอะไรกับชาใต้?

คำที่เกี่ยวข้องกับชาไทยที่เราจะมาสืบเสาะกันต่อไปก็คือคำว่า “ชาซีลอน” ชาซีลอนเป็นชื่อเรียกใบชาที่ปลูกหรือส่งออกจากศรีลังกา ในปัจจุบันนี้ที่ชาไทยมีเอกลักษณ์โดดเด่นขึ้นมา ชาซีลอนกับชาไทยเป็นชาคนละอย่างกัน แบ่งแยกกันได้โดยชัดเจน แต่ในสมัยก่อนที่คำว่าชาไทยยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมานั้น “ชาร้อนและชาเย็น” ที่สั่งกันตามรถเข็นกาแฟโบราณ ล้วนใช้ชาซีลอนชงขายทั้งสิ้น และไม่เพียงแค่นั้น แม้แต่ชื่อเมนูก็ใช้คำว่า “ซีลอน” แทนคำว่า “ชา” ด้วยซ้ำไป จังหวัดทางภาคใต้ที่ชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่กันหนาแน่นจะใช้ชื่อว่า “เซล้อง” อันหมายถึงชาซีลอนในสำเนียงท้องถิ่น โรงคั่วกาแฟโบราณที่คั่วใบชาขายด้วยก็นิยมเรียกชื่อสินค้าของตัวเองว่าชาซีลอน ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะว่าในสมัยแรกเริ่มนั้น มีการนำเข้าชาดำ (ชาหมัก) จากศรีลังกามาชงขายเป็นชานม (ข้นหวาน) ดังนั้น ถ้าจะพูดให้ชัดก็อาจกล่าวได้ว่าชาซีลอนเป็นต้นกำเนิดของชาไทยนั่นเอง

วัฒนธรรมร้านชากาแฟแบบโบราณนั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมของเอเชียอาคเนย์ ทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่างก็มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน โดยเมนูหลักคือกาแฟ และเป็นกาแฟลักษณะเดียวกัน นั่นคือกาแฟ “โรบัสต้า” คั่วกับเนยและน้ำตาล ชงด้วยถุงชงแล้วเสิร์ฟกับนมข้นหวาน จะแตกต่างกันบ้างก็เช่น กาแฟโบราณของไทยจะผสมเมล็ดธัญพืชต่างๆ นานาเข้าไปด้วยเพื่อลดต้นทุน แต่เวียดนามซึ่งปลูกกาแฟได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกจะใช้เมล็ดกาแฟล้วนได้ กาแฟขาวของมาเลเซียจะคั่วกับเนยเทียมแต่ไม่ใส่น้ำตาลเวลาคั่ว แต่ความแตกต่างเหล่านี้ดูเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับจุดร่วมที่มีเหมือนกัน ซึ่งก็คือกรรมวิธีการคั่วด้วยเนยอันเป็นความรู้ที่ชาวจีนอพยพนำติดตัวมาเผยแพร่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะแถบคาบสมุทรมลายู วัฒนธรรมร้านชากาแฟแบบโบราณของไทยใต้และมาเลเซียจึงคล้ายคลึงกันมากที่สุด และแน่นอนว่าชาที่ใช้ชงขายเป็นเมนูรองกันในระยะแรกนั้นก็คือชาซีลอน

แม้ว่ากำเนิดของเมนูชานม (ชาซีลอนชงใส่นมข้นหวาน) ในคาบสมุทรมลายูจะยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ให้กำเนิดกันแน่ ระหว่างชาวจีนฮกเกี้ยนที่เป็นเจ้าของสูตรคั่วกาแฟโบราณ โดยมีภาพจำของอาแปะที่ชงกาแฟและชานมขายพร้อมกับ “อิ่วจาก้วย” (ไทยเรียกสลับเป็นปาท่องโก๋) เป็นตัวแทน กับคนมุสลิมอินเดียที่อพยพมายังคาบสมุทรมลายูโดยนำความรู้เรื่องการชงชานมที่บูมในอินเดียมาด้วย มีภาพจำคืออาบังที่ชักชาขายพร้อมกับฟาดโรตีไปด้วย แต่ที่แน่นอนก็คือ วัฒนธรรมชานมในหลายๆ ประเทศนั้นล้วนได้รับอิทธิพลตั้งต้นจากอังกฤษทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผ่านมาทางชาวอินเดียหรือชาวจีนอพยพก็ตาม

อย่างไรก็ดี ชาซีลอนที่เป็นต้นกำเนิดของชาไทยนั้นคือชาที่ขายในร้านกาแฟโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยน ส่วนชาซีลอนที่คนมุสลิมอินเดียชงขายนั้นได้กลายมาเป็นชาชัก (Teh Tarik) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ชาใต้” เราจึงพูดได้ว่า “ชาไทย” และ “ชาชัก” (ชาใต้) เป็นเหมือนพี่น้องที่เกิดจากชาซีลอนเหมือนกัน ในตอนต่อไป เราจะมาดูพัฒนาการของชาไทยว่าเป็นมาอย่างไรถึงได้แตกต่างจากต้นเค้าจนกลายมาเป็นเครื่องดื่มประจำชาติไทยในที่สุด

------------------------

"ชาไทย" และ "ชาใต้" เปรียบเสมือนพี่น้องที่เติบโตกันคนละเส้นทาง แต่ยังคงกลิ่นอายจากต้นกำเนิดเดียวกัน! สัมผัสรสชาติชาไทยแท้ ๆ แนะนำให้ลองชงผงชาไทยสำเร็จรูป Synova ชงง่าย อร่อยเหมือนต้นตำรับ พร้อมให้คุณดื่มด่ำความหอมเข้มข้นได้ทุกที่ ทุกเวลา!

------------------------

สั่งชาเย็น ทำไมได้ชานม? | สืบจากศัพท์..กว่าจะเป็นชาไทยที่ใครๆ ก็รัก อ่านต่อ

กิจกรรมเพิ่มเติม